รู้จักมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไอเกีย
โดย Wilai Trakulsin เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2011 เวลา 19:52 น.
ประวัติชีวิตมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไอเกีย
Ingvar Kamprad, founder of IKEA
มหาเศรษฐีคนนี้ มีนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายมากๆ แต่งตัวเหมือนชายชราธรรมดา ใช้รถยนต์คันเก่าๆ ชอบโหนรถเมล์ เดินทางไปไหนด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ มีบ้านอยู่อาศัยหลังย่อมๆ ตกแต่งด้วยสินค้าของตนเอง เรียกว่าประหยัดในทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้
การใช้ชีวิตของเขา บางครั้งทำให้เกิดเรื่องวุ่นได้
ครั้งหนึ่ง เมื่อได้รับเชิญให้ไปรับรางวัลนักธุรกิจแห่งปี ยามรักษาความปลอดภัยไม่ยอมให้เข้าไปในงานเพราะเดินทางมาด้วยรถเมล์
แล้วตอนรับเชิญให้ไปตัดริบบิ้นเปิดหุ่นรูปปั้นของตนเองก็กลับไม่ยอมตัดริบบิ้น แต่ค่อยๆ นำริบบิ้นนั้นมาม้วนพับเก็บให้นายกเทศมนตรีประจำเมืองไว้ใช้ในครั้งต่อไป
มหาเศรษฐีผู้นี้เป็นถึงมหาเศรษฐีท็อปเทนระดับโลก มีทรัพย์สินรวมกว่า 7.37 แสนล้านบาท เจ้าของธุรกิจระดับโลก IKEA เขาคือ อิงวาร์ คัมพราด ชาวสวีเดน ผู้กำลังพาธุรกิจของเขามาให้คนไทยได้รู้จักแล้วในวันนี้
มาทำความรู้จักกับ IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สุดชิค จากสวีเดน
IKEA มาจากชื่อของเขาเอง Ingvar Kamprad ชื่อฟาร์ม Elmtaryd และชื่อหมู่บ้านเกิดของเขา Agunnaryd
อิงวาร์ คัมพราด เริ่มต้นธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ IKEA ตั้งแต่อายุ 17 ปี ด้วยการขายปากกา กระเป๋าสตางค์ กรอบรูป นาฬิกาข้อมือ และสินค้าทุกอย่างที่เขาคิดว่าจะขายในราคาที่ถูกกว่าตลาดได้
ต่อมา เมื่อสินค้าตกแต่งบ้านในแบรนด์นี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า จึงได้ปรับเปลี่ยนมาผลิตสินค้าประเภทนี้เป็นส่วนมาก
จุดเด่นของสินค้าก็คือ รูปแบบสินค้าที่มีสไตล์คลาสสิก และการออกแบบที่ตอบโจทย์ลูกค้าด้านประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ
วันหนึ่งในปี ค.ศ.1956 ขณะที่ กิลลิส ลูนด์เกรน (Gillis Lundgren) พนักงานฝึกหัดในแผนกเขียนแบบของไอเกีย กำลังขนส่งโต๊ะให้ลูกค้า เขาพยายามดันโต๊ะตัวที่ว่าเข้าไปในรถ แต่ไม่ว่าจะขยับอย่างไร ขาโต๊ะที่ยื่นออกมาทำให้วางไม่พอดีสักที เขาจึงอุทานขึ้นมาว่า "ให้ตายเถอะ ถอดขาโต๊ะออกมาแล้วเก็บไว้ข้างใต้ละกัน"
แทบไม่น่าเชื่อ เพียงคำพูดประโยคสั้นๆ ของกิลลิสได้จุดประกายให้ไอเกียคิดค้นวิธีดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถถอดประกอบได้ เพื่อว่าเมื่อแพ็คใส่กล่องสินค้าจะได้อยู่ในลักษณะแบนราบ ง่ายต่อการขนส่งและทำให้สินค้าเสียหายน้อยลง ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ครั้งนี้ช่วยให้ไอเกียลดต้นทุนการขนส่งได้มากและแข่งขันกับคู่ค้ารายอื่นได้
อย่างไรก็ดี แม้ไอเกียจะผลิตสินค้าคราวละมากๆ และตั้งราคาถูกแบบ "กระชากใจ" แต่อิงวาร์ไม่เคยละเลยเรื่องคุณภาพแม้แต่น้อย เขาเคยกล่าวไว้ว่า "สำหรับเฟอร์นิเจอร์ดีไซเนอร์ การออกแบบโต๊ะราคา 1,000 ดอลลาร์เป็นเรื่องง่ายๆ แต่การออกแบบโต๊ะที่สวยงานและใช้งานได้ดีในราคา 50 ดอลลาร์ ต้องใช้ความทุ่มเทอย่างที่สุดเท่านั้น" ด้วยแนวคิดเช่นนี้คนที่มีรายได้น้อยจึงสามารถเป็นเจ้าของเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เรียบหรูสไตล์สแกนดิเนเวียได้ไม่ยาก และทำให้บริษัทไอเกียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
IKEA ได้ขยายสาขาไปมากกว่า 276 แห่งใน 25 ประเทศทั่วโลก และเปิดสาขาในเมืองไทย พ.ย. นี้ ในโครงการเมกะบางนา แหล่งช้อปปิ้งพักผ่อนแห่งใหม่ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทุกวันนี้ คัมพราด ยังคงใช้ชีวิตประจำวันอย่างเรียบง่าย ปล่อยให้ลูกๆ เข้ามาช่วยดูแลกิจการเฟอร์นิเจอร์ ส่วนตัวเองพักผ่อนในบ้านหลังย่อมกับภรรยาคู่ชีวิตออกไปทานอาหารร้านเล็กๆ เป็นบางครั้ง ไปช้อปปิ้งตอนบ่ายที่สินค้าเริ่มลดราคา และบางครั้งต่อรองราคากับแม่ค้าในตลาดก็เคยทำมาแล้ว
ปรัชญาชีวิตของมหาเศรษฐี IKEA ที่น่าเอาอย่าง…
ก็มีบ้าง ที่บางครั้งผมซื้อเสื้อผ้าดีๆ มาใส่ ทานอาหารร้านหรูๆ บ้าง
แต่การใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่ายมากๆ อาจจะกระทบต่อผู้อื่น เช่น ลูกน้องที่เลือกผมเป็นแบบอย่าง คนเป็นหัวหน้าควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกน้องทั้งด้านการบริหารและชีวิตส่วนตัว
อิงวาร์ให้ความสำคัญกับ "คน" เสมอมา เขาจะเรียกพนักงานของไอเกียว่า "ผู้ร่วมงาน" แทนคำว่า "ลูกจ้าง" และมักจะใช้วิธีเขียนจดหมายกระตุ้นให้พนักงานหนุ่มสาวของบริษัทพัฒนาตัวเอง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการใช้กระดาษทั้งสองหน้า ไปจนถึงเรื่องที่สำคัญๆ อย่างการใช้เวลาอย่างมีคุณค่า
"คุณทำอะไรได้มากมายในเวลาเพียง 10 นาที ลองแบ่งเวลาในชีวิตคุณออกเป็นหน่วยย่อยๆ หน่วยละ 10 นาที แล้วพยายามใช้เวลาแต่ละหน่วยให้สูญเปล่าน้อยที่สุด"
มองในอีกมุมหนึ่ง มหาเศรษฐี IKEA ต้องการบ่งบอกถึงปรัชญาการออกแบบสินค้าที่โชว์ความเรียบง่าย เน้นคุณภาพและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก
อีกไม่นานนัก คนไทยจะได้รู้จักกับเฟอร์นิเจอร์ IKEA ที่สะท้อนมาจากการดำเนินชีวิตของอิงวาร์ คัมพราดผู้เป็นเจ้าของ เป็นมหาเศรษฐีที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่ายแบบชาวบ้าน สมควรที่คนไทยเราจะเอาเป็นแบบอย่างได้อย่างสนิทใจ
อ้างอิง : "ชีวิตสมถะสไตล์เศรษฐี IKEA อิงวาร์ คัมพราด" ใน นสพ. M2F
ฉบับประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2554 – ขอขอบคุณ