ซ่อมรถจักรยานยนต์หลังน้ำท่วมไว้ใช้งานชั่วคราว
เป็นประสบการณ์ตอนน้ำท่วมใหญ่ที่หาดใหญ่ปี 2543
ต้องเป็นลูกมือพี่ชายในการซ่อมรถจักรยานยนต์
เพราะร้านซ่อมจักรยานยนต์รับงานไม่ทันแล้ว
และมีความจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์
ไว้ไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน
หลังจากนั้นก็พอก๊อกแก๊ก ๆ ช่วยเพื่อนได้บ้าง
ควรเป็นรถจักรยานยนต์ที่สามารถสตาร์ทด้วยเท้าและด้วยมือเท่านั้น
1. เตรียมเครื่องมือพวกประแจปากตาย ประแจแหวน ค้อน
ไขควงปากแฉก ไขควงปากแบน ปั้มลม(ถ้ามี) น้ำมันสารพัดประโยชน์
สบู่หรือผงซักฟอก แปรงสีฟันเก่า ๆ ฟองน้ำไม่คิดว่าจะใช้อีกแล้ว เศษผ้า
ถังน้ำ หรือสายยางฉีดน้ำ
2. ไม้/เก้าอี้รองแท่นเครื่อง ให้รถจักรยานยนต์เอียงประมาณ 30 องศา
เพื่อให้น้ำในท่อไอเสียไหลออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
3. ฉีดน้ำล้างทำความสะอาดทั่วทั้งคันเท่าที่จะทำได้
4. แกะ/ถอดฝาครอบบังลม หรืออะไรที่เกะกะออกมาก่อน
(รถจะโป้สักเล็กน้อย ก็ไม่ต้องสนใจช่วงนี้
เพราะตำรวจจราจรแทบไม่ทำงานกันอยู่แล้ว
ไว้โอกาสหน้าค่อยมาใส่แต่งเติมให้สวยงามตามเดิม)
5. ก่อนฉีดน้ำควรถอดขั้วบวก ขั้วลบ แบตเตอรี่ออก
(ห้ามติดเครื่องยนต์ก่อน) เช็ดให้แห้งพร้อมฉีดน้ำยาสารพัดประโยชน์
พวก So… ให้ทั่วก่อนประกอบกลับในภายหลัง
6. ถอดไส้กรองอากาศทิ้งไปเลย หรือเปลี่ยนชิ้นใหม่
หรือค่อยเปลี่ยนในวันหลัง เช็คให้แห้งด้วย ระวังน้ำเข้าไปในคาร์บูเรเตอร์
7. ถ่ายน้ำมันเบนซินจากถังใส่น้ำมันออกมาให้หมด
กรณีทำได้ยากลำบากมาก ก็อาจจะถ่ายจากคาร์บูเรเตอร์ก็ได้
ให้น้ำมันไหลลงในขวดแก้วใส หรือถังสีใสหรือพอมองออกได้
เพื่อดูชั้นน้ำกับน้ำมัน จะเห็นว่าแยกกันเห็นได้ชัด
ให้รินเฉพาะน้ำมันมาใช้ภายหลัง โดยเติมกลับลงในถังน้ำมันได้
8. ดึงหัวเทียนออกมาเช็ดให้แห้ง
ปล่อยรูให้ว่างไว้ พร้อมกับเหยียบคันสตาร์ทเท้าไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ ครั้ง
เป็นการไล่น้ำออกจากห้องเครื่องยนต์ กับทำให้ลูกสูบเคลื่อนไหวได้บ้าง
พร้อมกับฉีดน้ำยา So..ลงในห้องเครื่อง กับสายจุดระเบิดหัวเทียนไล่ความชื้น
บางท่านว่าอันตรายให้ใช้ autolube แทน
หรือใช้ลมจากปั้มลมฉีดใส่แทน
แล้วเร่งการจุดระเบิดของเครื่องยนต์
โดยการเติมเบนซินสักนิดหนึ่งลงในห้องเครื่องยนต์เลย
ก่อนประกอบหัวเทียนกลับเข้าที่ตามเดิม
9. ถ่ายทิ้ง/เปลี่ยนน้ำมันเครื่องใหมเลย อย่าเสียดายน้ำมันเครื่องอีก
10. ฉีดพวกสวิทช์ไฟฟ้าด้วย So.. เป็นการไล่ความชื้น/หล่อลื่น
หรือใช้ลมไล่ฉีดจุดที่คิดว่ามีคราบน้ำ/ความชื้นหลงเหลืออยู่
ประกอบกลับตามเดิมข้อ 5 6 7 8 9 ตรวจความเรียบร้อย
พร้อมบิดกุญแจตัดต่อสวิทช์
แล้วสตาร์ทกับเท้าก่อนจะง่ายกว่าจากสตาร์ทมือ
เพราะไม่แน่ใจว่าสวิทช์สตาร์ทมือจะชอร์ทหรือไม่
หรือบางทีอาจจะไม่ทำงานแล้วก็ได้
อาจจะต้องดึงโช็กหรือถีบคันสตาร์ทเท้าหลายครั้งกว่าจะติดเครื่องได้
หรือถ้ายังไม่ติดอีกก็กลับไปที่ข้อ 8 โดยเริ่มใหม่อีกครั้ง
แล้วเริ่มสตาร์ทใหม่อีกครั้งด้วยสตาร์ทเท้าตามเดิม
พอติดเครื่องวิ่งได้แล้ว อีกหนึ่งสัปดาห์ก็ต้องถ่ายน้ำมันเครื่องทิ้ง
เพราะสีจะขาวขุ่นน่าเกลียดมาก และจะมีผลต่อเครื่องในระยะยาว
ถ้าเปลี่ยนเบาะนั่งได้ก็เปลี่ยนเสีย
เพราะจะมีคาบน้ำคาบโคลนติดฝังในฟองน้ำของเบาะ
จะมีกลิ่นโคลนสาบน้ำโชยมาให้ดมเป็นระยะ ๆ
พอใช้ไปสักพัก ถ้าขายต่อได้หรือมีคนจะซื้อก็ควรขายไปเลย
เพราะรถจักรยานยนต์ที่ถูกน้ำท่วม
ชาวบ้านว่าเหมือนคนมีอาการแรกเริ่มโรคมะเร็ง
จะค่อย ๆ ลามตรงตัวถังเหล็กบ้าง รวนบ้างในภายหน้า
เว้นแต่จะผ่านการซ่อมอย่างจริง ๆ จัง ๆ
เช่น ยกเครื่อง เปลี่ยนโน่น เปลี่ยนนี่ ล้างแบบหมดจด
ภาพประกอบตัดต่อเท่าที่จำเป็นจาก
http://img1.topfreebiz.com/o2010-9/Dirt-Bike-Qg-210-70CC-Engine-Parts-18222057244.jpg
ขอให้โชคดีและปลอดภัยจากน้ำท่วม
ซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ใช้งานได้ชั่วคราวหลังน้ำท่วม
คำค้นหา:
- วิธีซ่อมมอเตอร์ไซค์
- คู่มือซ่อมมอเตอร์ไซค์
- วิธีซ่อมรถมอเตอร์ไซค์
เห็นว่ามีน้ำใจเลยไม่อยากว่า ครับ ข้อที่ 8 ไอ้น้ำยาที่ว่า SO.. นะ Sonax หรือเปล่า
ครับ (ผมคิดว่าใช่) ถ้าใช่ ห้ามเด็ดขาดครับ มันไม่ได้ทำมาให้ใช้ภายใน
เครื่องยนต์ครับ ให้ใช้ออโต้ลูป ( 2T ) แทนครับ แล้วทำอย่างอื่นเสร็จค่อย
สตารท์ โดยไม่ต้องใส่หัวเทียนเพื่อ ให้ลูกสูบคลายตัวพร้อมทั้งไล่น้ำในกระบอกสูบ
หรือถ้ามีปั้มลม ให้ใช้ลมเป่าไล่น้ำในระบบทุกจุดที่น้ำเข้าครับ
ที่แจ้งมาใช่ครับ
ลืมตกไปตอนต้องสตาร์ทไล่น้ำทิ้งก่อน
แล้วค่อยใส่หัวเทียนเพื่อให้เครื่องยนต์ติด
แต่ตอนนั้นหาปั้มลมไม่ได้
เลยใช้เป็นการชั่วคราวไปก่อน
เป็นการไล่ความชื้นภายในเครื่องยนต์
แบบว่ารีบ ๆ และเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอด
แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน
วิธีการที่คุณแจ้งมาถูกต้องแล้วครับ
เพิ่มเติมภาพประกอบจาก www. ที่อ้างอิง
ตัดเฉพาะจุดที่ควรดำเนินการในการแก้ไขรถจักรยานยนต์
นี่ขนาดรถจักรยานยนต์นะเนี่ยะ ยังมีรถยนต์ รอคิวซ่อมอีกเป็นร้อยคันเลย