อยากหาบ้านที่อยู่เขตตลิ่งชัน

ตอนนี้อยากได้บ้านใหม่ (มือสอง) ที่อยู่เขตตลิ่งชัน ขอเป็นบ้านเดี่ยว ราคาไม่เกิน 3.5 ล้านบาท ไม่ทราบว่าต้องหาจากเว็บอะไรได้บ้างเหรอคะ เพราะหามาหลายเว็บแล้ว ยังไม่ถูกใจเลย

5 thoughts on “อยากหาบ้านที่อยู่เขตตลิ่งชัน

  1. simiach

    ลองเดินทางไปดูสิคะ น้าสาวก็ลองสุ่มไปดูเจอป้ายบอกขาย ได้บ้านราคาไม่แพง ทำนองไม่รีบร้อนขายไม่ได้ไปโฆษณาที่ไหน

  2. Anna_nan

    จากเว็บไซท์ของธนาคารฯ หมวดทรัพย์สินรอการขาย หรือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ไม่บอกว่าสถาบันไหนนะค่ะ แต่มีทุกธนาคารฯ แน่นอน บางธนาคารฯ ทำเป็นเล่มๆ ไว้แจกด้วยค่ะ แต่ขอแนะนำก่อนซื้อไปดูของจริงด้วย เพราะพวกนี้แบงค์จะเอารูปดีๆ (ดีของเค้า) มาแปะไว้ แต่พอไปดูจริง เวลาผ่านไปสภาพมันจะแย่กว่าเดิม ยกเว้น กรณีแบงค์รีโนเวทให้แล้ว อันนี้ก็บางแบงค์เท่านั้น อีกนิดถ้าชอบๆ ความตื่นเต้น + ของถูก ก็ไปนั่งประมูลจากบังคับคดีได้เลย แต่เสี่ยงหน่อยต้องวางเงินก่อนประมูล ประมูลได้ไม่เอาถูกยึดเงิน ต้องตัดสินใจดีๆ

    การขายของสถาบันการเงิน มักขายตามสภาพบ้าน แต่มีดีที่สามารถเสนอซื้อด้วยเงื่อนไขต่างๆได้ เช่น ซื้อในราคาต่ำกว่าประกาศได้ บริการสินเชื่อสะดวกกว่าเพราะเป็นบ้านธนาคารฯ ยิ่งเป็นธนาคารฯ เดียวกันยิ่งสบาย แต่ศึกษาข้อมูลสินเชื่อธนาคารฯ นั้นอีกทีน่าจะดีที่สุดค่ะ (ทั้งนี้เค้าไม่บังคับนะค่ะว่าซื้อจากแบงค์นี้ต้องกู้ที่แบงค์นี้เท่านั้น)

    แต่ควรระวัง
    1. ค่าซ่อมแซมบ้าน
    2. ตรวจสอบสิทธิบ้านให้ดี ขอดูเอกสารสิทธิ์ โฉนดที่ดินว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของแบงค์แล้วแน่ๆ ไม่ใช่ว่าแบงค์ได้แต่สิทธิแล้วเอามาขาย ไม่งั้นเดี๋ยวเสียเงินต้องรอนานกว่าจะได้ใช้บ้านจริงๆ (เน้นอีกทีน่ะค่ะ ต้องกรรมสิทธิ์ ไม่ใช่สิทธิอย่างเดียว )
    3. บ้านแบงค์บางทีไม่ได้มีการเฝ้าดูแล อาจมีผู้บุกรุก อันนี้ถ้าเจอถามที่แบงค์เลยว่าจะไล่ให้มั๊ย ถ้าไล่ให้ข้อนี้ระบุในสัญญาฯ ด้วยว่า แบงค์รับภาระขับไล่ให้ จะดำเนินการเสร็จเมื่อไร ถ้าไล่ไม่ได้แบงค์ต้องคืนเงินในกี่วัน ปกติจะอยู่ที่ 180 วัน
    4. มิเตอร์น้ำไฟ มีหรือเปล่า อาจมีค่าค้างชำระ ถ้าเราต้องจ่ายจะขอคืนจากแบงค์ได้มั๊ย บางแบงค์ให้คืนน่ะค่ะ แต่ค่าประกันกรณีขอมิเตอร์ใหม่ไม่เคลมคืนให้เพราะผู้ขอจะได้คืนเมื่อยกเลิก
    5. ค่าส่วนกลางกรณีบ้านอยู่ในโครงการ ธนาคารฯ จ่ายถึงวันโอนกรรมสิทธิ์  
    6. ค่าธรรมเนียมการโอนฯ ธนาคารฯ หลายแห่งให้ผู้ซื้อจ่ายเองทั้งหมด (ต่างจากบ้านสร้างใหม่ที่หลายๆ แห่งมักจะช่วยลูกค้าออกครึ่งหนึ่ง แต่อย่างว่าเค้าก็รวมค่าพวกนี้ไว้ในราคาบ้านแล้ว) ส่วนค่าภาษีธนาคารฯ จ่ายเอง (ก็มันเป็นภาษีธุรกิจนี่น่า)

  3. Anna_nan

    เพิ่มเติมวิธีการซื้ออีกนิดค่ะ
    1. ขั้นตอนเสนอซื้อ : บ้านจากสถาบันการเงินจะไม่มีการจอง หรือมัดจำ แต่จะเป็นการวางเงินเพื่อเสนอราคา เช่น 1% ของราคาซื้อ 1.0 ลบ. เท่ากับ 10,000.- บาท (ต่างจากบ้านมือใหม่ต้องวางเงินจอง ไม่เอาก็ถูกยึดเงินจอง) ธนาคารฯ ก็จะดูว่าราคาที่ผู้เสนอซื้อมานั้น สามารถขายให้ได้ตามหลักเกณฑ์ของแบงค์มั๊ย (ไม่ต่ำกว่าราคาทุน  ได้ที่ราคา PV เงื่อนไขประกอบการซื้อ) อนุมัติขายผู้ให้ราคาสูงสุด รายอื่นคืนเงิน
    2. ขั้นตอนการทำสัญญาจะซื้อจะขาย : หลังจากสถาบันการเงินอนุมัติขายจะให้ผู้ซื้อเข้ามาทำสัญญาฯ และวางเงินเพิ่มอีก ตัวอย่างเช่น อนุมัติขายที่ 1.0 ลบ. จะให้ผู้ซื้อทำสัญญาฯ พร้อมวางเงิน 10% ของราคาที่ตกลงขายให้ เป็นเงิน 100,000.- บาท (1.0 ลบ. x 10%)  ดังนั้น ผู้ซื้อจะต้องวางเพิ่มอีก 90,000.- บาท (100,000 – เงินวางตอนเสนอซื้อ 10,000.-) โดยในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลากำหนดอีกว่าต้องดำเนินการภายในกี่วัน ปกติอยู่ที่ 15-30 วัน แล้วแต่สถาบัน
    ** ข้อเปรียบเทียบการซื้อบ้านจากแบงค์จะไม่มีผ่อนดาวน์ ไม่เหมือนกับซื้อบ้านต่อจากบุคคลซึ่งยืดหยุ่นกว่า หรือจากโครงการใหม่ที่มีให้ผ่อนดาวน์ ดังนั้น ผู้ซื้อต้องศึกษาเงื่อนไขการซื้อ การชำระเงินให้มากๆ ว่าแต่ละธนาคารฯ เป็นอย่างไร มีเงื่อนไขขั้นตอนการซื้ออย่างไร เพราะถ้าเราเลทไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการขายจะถูกยึดเงินได้
    3. ขั้นตอนการขอสินเชื่อ : วิธีการเหมือนทั่วไป เตรียมเอกสารให้พร้อม ธนาคารฯ ให้ระยะเวลาในการขอสินเชื่อและโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ยกเว้นขอสินเชื่อไม่ผ่านต้องยื่นใหม่อาจยืดหยุ่นได้อีก 1 ครั้ง ประมาณ 30 วัน แต่ต้องมีหนังสือแจ้งผลประกอบการพิจารณาสินเชื่อว่าไม่ผ่านเพราะอะไรแนบส่งธนาคารฯ ด้วย

    ทั้งนี้ แต่ละธนาคารฯ มีวิธีการแตกต่างกัน ข้อมูลด้านบนเป็นเพียงขั้นตอนคร่าวๆ เท่านั้น ต้องดูรายละเอียดของสถาบันการเงินนั้นๆ อีกทีค่ะ

    P.S. ไม่ทราบว่า จขกท. อาจจะทราบข้อมูลอยู่แล้ว แต่ขอให้ข้อมูลไปก่อนนะค่ะ เผื่อว่าจะได้ใช้ และเป็นประโยชน์บ้าง

Comments are closed.