คุณกนกรัตน์ ศิริพานิชกร" แฟกซ์เรื่อง
"ทำอย่างไรเมื่อน้ำท่วมบ้าน?" มาให้เผยแพร่ เผื่อช่วย "กระตุกต่อมสติ"
ยามคิดอะไรไม่ออกขณะเผชิญน้ำท่วมได้บ้าง ก็อ่านกันดูนะครับ
ทำอย่างไรเมื่อน้ำท่วมบ้าน
บ้านที่อยู่ ยังอยู่ได้หรือไม่?
ก.อยู่ไม่ได้
ให้อพยพหาที่อยู่ใหม่ทันที โดยเตรียมการก่อนออกจากบ้านดังนี้
๑.) ควบคุมสติให้มั่นคง รวบรวมคนในบ้านให้อยู่ครบ ดูแลผู้สูงอายุ
และเด็ก
๒.) เก็บสิ่งของสำคัญๆ และจำเป็นติดตัวไปด้วยเท่านั้น (ยาประจำตัว
แว่นตา บัตรประชาชน โทรศัพท์มือถือ ทรัพย์สินมีค่า สมุดเงินฝาก
เสื้อผ้าเท่าที่จำเป็น เป็นต้น)
๓.) เก็บของสำคัญที่เหลือใส่กุญแจ ปิดบ้านให้ปลอดภัย ถ้ามีเวลาให้เก็บ
สิ่งของในบ้านที่อยู่ชั้นล่างย้ายขึ้นไปไว้ที่สูงหรือชั้นสอง และสิ่งของที่อยู่บริเวณนอกบ้าน ถ้าเก็บได้ให้เก็บเข้ามาไว้ในบ้าน หรือผูกมัดไว้ให้ยึดติดแน่นอยู่กับที่ (การเก็บของขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มี)
๔.) ปิดน้ำ แก๊ส ไฟฟ้า (คัตเอาต์) ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด
อย่าจับเครื่องไฟฟ้าถ้าตัวเปียก หรือเท้าแช่อยู่ในน้ำ
๕.) เมื่ออพยพออกจากบ้าน หากระดับน้ำท่วมสูงมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว
ควรใช้เรือ หรือรอคนมาช่วยอพยพออกจากบ้าน หากระดับน้ำไม่สูงมาก
จำต้องเดินลุยน้ำ ให้ระวังการลื่นหกล้ม เพราะพื้นดินจะลื่น ใช้ไม้ (เท้า)
ยันพื้นนำทางที่จะเดินไปข้างหน้าให้แน่ใจว่าไม่มีหลุม และพื้นดินข้างล่าง
แข็งแรงดี
๖.) อย่าขับรถในพื้นที่น้ำท่วมสูง เพราะจะไม่สามารถควบคุมรถได้
ถ้าระดับน้ำสูง ระดับน้ำที่สูงเกิน ๒ ฟุต สามารถพัดพารถยนต์ให้ลอย
ไปได้ ให้เคลื่อนย้ายรถไปไว้ในที่สูง ถ้าทำไม่ได้ให้ทิ้งรถยนต์ไว้ เพราะ
ทั้งคนและรถยนต์อาจถูกน้ำซัดพาไป
๗.) คอยติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วม เมื่อน้ำลดปลอดภัยแล้ว
จึงกลับเข้าบ้าน
ข.พออยู่ได้
๑.) สำรวจน้ำประปา น้ำดื่ม ไฟฟ้า ห้องสุขา ว่ายังใช้ได้หรือไม่?
๒.) เคลื่อนย้ายสิ่งของที่อยู่ต่ำขึ้นไว้ที่สูง หรือเก็บในภาชนะที่กันน้ำได้
๓.) ติดตามฟังข่าวทางวิทยุ โทรทัศน์ ถึงสถานการณ์น้ำท่วมอยู่เสมอ
๔.) ติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในสิ่งของที่ขาดแคลน
๕.) แจ้งที่ทำงาน หากออกไปทำงานไม่ได้
๖.) ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่เดิม ให้ขอความช่วยเหลือหากต้องออกไปพบแพทย์
๗.) จัดหาน้ำและอาหารให้พอเพียงสำหรับคนในบ้าน น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกดีที่สุด (น้ำดื่มประมาณ ๒,๐๐๐ ซีซี ต่อคน/วัน)
๘.) อาหารที่เก็บควรเป็นอาหารที่ไม่เน่าเสีย ไม่ต้องแช่ตู้เย็น ไม่ต้องปรุง
สุกก่อน เป็นอาหารพร้อมกิน ผลไม้ ผัก นมกล่อง น้ำผลไม้กล่อง อาหารกระป๋องที่พร้อมบริโภค พร้อมที่เปิดกระป๋อง (หากไม่เป็นชนิดมีฝา
กระป๋องเปิดได้เอง) อย่าเลือกอาหารที่กินแล้วกระหายน้ำมาก เช่น อาหาร
ขนมที่มีรสเค็มจัด ควรเลือกอาหารที่ให้พลังงานสูง ถ้ามีเด็กเล็กและ
ผู้สูงอายุ ให้เตรียมอาหารสำหรับเด็กและผู้สูงอายุด้วย
๙.) หากไม่มีไฟฟ้าใช้ เตรียมไฟฉาย ถ่านไฟฉาย ตะเกียง ไม้ขีดไฟ
เทียน เพื่อให้แสงสว่างในยามค่ำคืน
๑๐.) สุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เราเจ็บป่วยลงไปอีก
ล้างมือให้สะอาด หากไม่มีน้ำ ใช้แอลกอฮอล์เช็ดมือก่อนกินอาหาร
๑๑.) หากห้องสุขาในบ้านใช้ไม่ได้ ทำสุขาเคลื่อนที่ชั่วคราวใช้นอกบ้าน
ถ้าน้ำท่วมขังนาน หรือใช้ถุงพลาสติกดำถ้าติดอยู่นาน
๑๒.) หากประสบอุบัติเหตุได้แผล ควรล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้
สะอาด แล้วใส่ยาทำแผลฆ่าเชื้อ เพราะน้ำท่วมมักปนเปื้อนขยะ สิ่งปฏิกูล
๑๓.) น้ำท่วมที่อยู่อาศัยมีผลต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้เครียด ให้หา|
เพื่อนคุยกัน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมภายในบ้าน
๑๔.) หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำท่วมขัง เพราะอาจปนเปื้อนสิ่งอันตราย
อาทิ ขยะ ไฟฟ้ารั่ว สารเคมี เป็นต้น
กนกรัตน์ ศิริพานิชกร
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
http://www.thaipost.net/news/251010/29152
จาก นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 25 ตุลาคม 53