อยากได้บ้าน+ที่ดิน ที่ขายทอกตลาดจากบังคับคดี แนะนำด้วยครับ

ผมอยากได้บ้าน+ทีดิน หลังหนึ่ง ถูกใจมากเพราะใกล้ที่ทำงาน ไปเจอในเวบของกรมบังคับคดี แต่ไม่มีความรู้เลย จะรบกวนถามผู้รู้หน่อยครับ

1.ในรายละเอียดระบุว่า ปลอดการจำนอง หมายถึง ถ้าผมประมูลได้ก็จะได้สิทธิ์เป็นเจ้าของเลยหรือไม่

2.ขั้นตอนในการประมูลนี่ต้องทำอย่างไรบ้างครับ

3.ราคาเริ่มต้นที่ 1.5ล้าน ถ้าผมประมูลได้ในราคานี้ได้ ผมต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นไหมครับ

4.ถ้าอยากเอาเข้าธนาคาร โดยผ่อนชำระเหมือนบ้านใหม่ทั่วๆไป ทำได้ไหมครับ และขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้าง

5.เงินหลักประกันที่วางให้กับบังคับคดี ถ้าผมประมูลบ้านหลังนั้นไม่ได้ จะคืนให้เมื่อไรครับ

6.ถ้าบ้านหลังนั้นยังมีผู้อาศัยอยู่ ผมต้องทำอย่างไรครับ ยุ่งยากไหมครับ

7.ผมดูในรายละเอียด โจทก์คือ ธ.ออมสิน ทำไม ธ.ออมสิน จึงไม่เอาไปขายทอดตลาดโดยเป็นทรัพย์พร้อมขายของธนาคารล่ะครับ (เห็นว่าในเวบของ ธ.ออมสินก็ขายบ้านที่ยึดมาเยอะเหมือนกัน)

รบกวนผู้รู้ผู้มีประสบการณ์แนะนำหน่อยนะครับ ผมอยากได้จริงๆ แต่ไม่รู้จะปรึกษาใคร ขอบคุณทุกท่านที่แนะนำครับ

By: อยากรู้ครับ
Since: 25 เม.ย. 55 22:56:34

12 thoughts on “อยากได้บ้าน+ที่ดิน ที่ขายทอกตลาดจากบังคับคดี แนะนำด้วยครับ

  1. admin Post author

    1. ถ้าประมูลได้ ก็ยังไม่ได้สิทธิ์เป็นเจ้าของครับ จะต้องจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดก่อนที่กรมบังคับคดี แล้ว กรมจะออกใบรับรองให้ไปทำการโอนที่กรมที่ดินครับ จึงจะมีสิทธิ์สมบูรณ์ครับ

    2. ขั้นตอนประมูล ก็คือ คุณต้องไปวางเงินประกันซองตามที่ในใบประกาศระบุไว้ว่า เท่าไร จะเป็นเงินสด หรือ แคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายตามที่ในใบประกาศระบุครับ เมื่อวางเงินเสร็จจะได้ป้ายไว้สำหรับยกในห้องประมูล หากผู้ใดให้ราคาสูงสุดแล้วไม่มีใครสู้ราคาต่อ เจ้าพนักงานจะถามโจทย์กับจำเลยว่า จะใช้สิทธิ์คัดค้านราคาหรือไม่ หากไม่คัดค้าน คุณก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล และต้องไปจ่ายส่วนที่เหลือภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากโจทย์และจำเลยค้าน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ ค้านแบบกำหนดราคา และ แบบไม่กำหนดราคา

    2.1 แบบกำหนดราคาคือ โจทย์จำเลยจะระบุราคามาเลยว่า ต้องการขายในราคาเท่าไร เจ้าพนักงานก็จะถามคุณว่า จะรับราคาของโจทย์และจำเลยหรือไม่ ถ้ารับราคาได้ คุณก็จะเป็นผู้ประมูลได้ แต่ถ้าคุณไม่รับราคาคือไม่สู้ราคาที่โจทย์จำเลยบอกมา คุณก็จะเป็นผู้ผูกพันธ์ราคาไว้ก่อน ต้องทำสัญญาซื้อขายไว้ล่วงหน้า แล้วเจ้าพนักงานจะนำทรัพย์นั้นออกขายใหม่ตามวันที่ระบุในใบประกาศในครั้งต่อไป หากถึงวันขายครั้งหน้าไม่มีใครสู้ราคาอีก คุณจะเป็นผุ้ชนะการประมูลครับ แต่หากมีคนอื่นสู้ราคาต่อ ก็จะสู้กันต่อไปจนได้ราคาสูงสุด เจ้าพนักงานก็จะนับ 1 ถึง 3 หากไม่มีผู้ใดให้ราคาสูงกว่านี้อีก เจ้าพนักงานจะเคาะไม้ขายให้กับผู้เสนอราคาสูงสุดครับ

    2.2 แบบไม่กำหนดราคา แบบนี้หมายความว่า ทั้งโจทย์และจำเลยไม่ยินยอมขายให้ใครในวันนี้ จะต้องยกไปประมูลในครั้งต่อไปตามวันที่ระบุในใบประกาศ คุณก็จะเป็นผู้ผูกพันธ์ราคาไปก่อน รอวันประมูลครั้งต่อไปตามกำหนดในใบประกาศ คุณก็เข้ามาติดต่อเจ้าพนักงานเพื่อแสดงตัวว่า เป็นผู้ผุกพันธ์ราคามาดูแลการขายและพร้อมจะสู้ราคาต่อ หากครั้งนี้ไม่มีผู้เสนอราคาต่อจากที่คุณเคยเสนอไว้ครั้งก่อน คุณก็จะเป็นผู้ชนะประมูลทันที แต่หากมีผู้สู้ราคา ก็จะทำการขายสู้ราคากันต่อไป ทั้งนี้โจทย์และจำเลยมีสิทธิ์เข้าสู้ราคาด้วย แต่ไม่มีสิทธิ์คัดค้านแล้วในครั้งนี้

    3. ค่าใช้จ่ายในการประมูลไม่มีครับ มีแต่ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน คือ คุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอน 2 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินครับ หากทรัพย์นั้นเข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ คุณก็ต้องเป็นผู้จ่ายด้วย และยังมีค่าอากรอีกครับ และยังมีค่าภาษีเงินได้ของเจ้าของบ้านเดิมครับที่คุณต้องจ่ายไปก่อน แต่สามารถเอาใบเสร็จรับเงินจากกรมที่ดินไปยื่นขอคืนภาษีเงินได้ที่กรมบังคับคดีภายใน 20 วันนับจากวันรับหนังสือโอนที่กรมบังคัดคดีออกให้(ไม่ใช่วันที่คุณไปโอนที่กรมที่ดินนะครับ)

    4. หากต้องการเอาเข้าธนาคาร เดี๋ยวนี้ธนาคารหลายแห่งไม่ค่อยยอมเล่นด้วยกับการประมูลที่กรมบังคับคดีแล้วครับ มีอยู่ไม่กี่ธนาคารที่ยังทำได้ เพราะมักเกิดปัญหาคือ ธนาคารสั่งจ่ายเช็คออกไปให้กรมบังคับคดีแล้ว แต่ ทรัพย์นั้นมีปัญหาโอนไม่ได้ หรือ โอนได้แต่หลักฐานไม่ครบต้องรอเคลียร์หลักฐานต่างๆ ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย คือ จ่ายเช็คไปแล้ว แต่ไม่ได้โฉนดมาถือไว้ทันที เลยทำให้หลายธนาคารไม่เล่นด้วยแล้วครับ คือ เขาจะบอกว่า คุณต้องจ่ายเงินสดให้กรมบังคับคดีไปก่อนแล้วค่อยเอามาจำนองกับธนาคารทีหลัง อย่างนี้ใครเขาจะหาเงินสดมาจ่ายไปก่อนได้ล่ะครับ แต่มีอีกวิธีคือ คุณต้องคุยกับธนาคารเจ้าของทรัพย์ก่อนเข้าประมูลครับ บางธนาคารยินดีทำเรื่องให้หากเป็นทรัพย์ที่ธนาคารนั้นเป็นโจทย์เอง

    ตามความคิดผม ผมว่า การประมูลบ้านที่กรมบังคับคดีนั้น หลาย ๆ คนยังไม่มีความรู้นัก คุณควรหาอ่านกฎการประมุลให้ดีเสียก่อนครับ เพราะมีความน่ากลัวซ่อนอยู่ครับ

    อันแรกที่น่ากลัวมาก ๆ คือ หากคุณเป็นผู้ชนะการประมูล แล้ว คุณไม่สามารถหาเงินส่วนที่เหลือมาชำระได้ หรือ คุณเปลี่ยนใจไม่ต้องการทรัพย์นั้นยอมให้ยึดเงินมัดจำ เจ้าพนักงานจะนำทรัพย์นั้นออกมาขายใหม่(อาจจะหลังจากนั้นไม่กี่เดือน) หากการขายใหม่ได้ราคาสูงสุดต่ำกว่าที่คุณเคยให้ไว้ คุณจะต้องจ่ายส่วนที่ต่างกันนั้นให้กับกรมบังคับคดีด้วย ซึ่งกฎหมายอันนี้น่ากลัวมาก เพราะสมมุติคุณประมูลได้ที่ 2.5 ล้านบาท แต่ต่อมาคุณทิ้งประมูล แล้ว เขานำออกขายใหม่ได้แค่ 1.5 ล้านบาท อย่างนี้คุณต้องจ่ายส่วนต่างอีก 1 ล้านบาทครับ หากไม่จ่ายก็เป็นคดีครับ คุณว่าน่ากลัวไม๊ครับ

    ผมว่า ทรัพย์ที่ธนาคารนำออกประมูลหรือขายน่าสนใจกว่ามาก เพราะไม่มีกฎข้อนี้ครับ แต่ราคาอาจแพงกว่าบ้าง แต่ปลอดภัยแน่นอน แถมส่วนใหญ่ ธนาคารจะยินดีให้คุณกู้อีกต่างหากครับ

    ยังมีกฎประหลาดอีกพอสมควรนะครับ อธิบายไม่หมด คุณคงต้องเข้าไปหาอ่านเอาเองล่ะครับ ไม่ใช่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย หรือ รู้เรื่องเท่าที่ผมบอกแค่นี้แล้วจะเข้าไปประมูลนะครับ มีโอกาสเกิดความเสียหายกับตัวคุณครับ

    หวังว่า ผมอธิบายแล้วคุณอ่านเข้าใจนะครับ

    5. คืนทันทีหลังทราบผลการประมูลแล้วว่าไม่ได้ โดยคุณสามารถขอคืนทันทีที่ทราบว่าไม่ได้ครับ

    6. ถ้าบ้านหลังนั้นยังมีผู้อาศัย อันนี้มีกฎหมายรองรับแล้วครับ ให้คุณไปแจ้งกรมบังคับคดีได้เลย กรมจะออกใบรับรองให้ไปแจ้งศาล แล้ว ศาลจะออกหมายบังคับให้จำเลยออกจากบ้านนั้นประมาณ 45 วันครับ แต่กว่าศาลจะออกหมายก็อาจกินเวลาเป็นหลายสัปดาห์น่ะครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเจอพวกจำเลยหัวหมอ บางทีก็ยื้อกันเป็นปีก็มีครับ

    7. ตามกฎหมาย ต้องเอาเข้ากรมบังคับคดีเท่านั้นครับ ที่คุณเห็นธนาคารนำทรัพย์ออกขายนั้น ก็คือ ธนาคารไปประมูลสู้ราคามากับคนทั่วไปครับ และ ธนาคารเป็นผู้ชนะการประมูลครับ และได้ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์มาแล้ว จึงนำออกมาขาย หรือ จัดการประมูลเอาได้ครับ

    By:
    Since: 26 เม.ย. 55 01:44:34

  2. admin Post author

    เพิ่มเติมนิดครับ ในข้อ 2.1 คือ หากคุณเป็นผู้ผูกพันธ์ราคา คือ ผูกพันธ์ในราคาที่คุณเสนอไว้ครับ ไม่ใช่ราคาที่โจทย์จำเลยต้องการขาย และเมื่อทำการขายต่อตามนัดครั้งต่อไป เจ้าพนักงานก็จะเอาราคาที่คุณเสนอสูงสุด เป็นราคาเริ่มต้นประมูลครับหากไม่มีใครเสนอ คุณก็เป็นผู้ชนะครับ แต่หากมีคนอื่น รวมถึงโจ่ทย์จำเลย เข้าสู้ราคาต่อ ก็จะเริ่มราคาจากที่คุณเสนอไว้ครับ และ คุณก็สามารถสู้ราคาต่อได้ครับ

    By:
    Since: 26 เม.ย. 55 01:48:36

  3. admin Post author

    เท่าที่พอทราบ
    1.ในรายละเอียดระบุว่า ปลอดการจำนอง หมายถึง ถ้าผมประมูลได้ก็จะได้สิทธิ์เป็นเจ้าของเลยหรือไม่
    # ใช่ครับ

    2.ขั้นตอนในการประมูลนี่ต้องทำอย่างไรบ้างครับ
    # เตรียมบัตรประชาชน เงินสดหรือเช็คเงินสด 50,000 บาท หรือตามที่ประกาศ

    3.ราคาเริ่มต้นที่ 1.5ล้าน ถ้าผมประมูลได้ในราคานี้ได้ ผมต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นไหมครับ
    # ค่าโอน ภาษี ที่ดิน เหมือนซื้อขายปกติ แต่เราเป็นผู้จ่ายทั้งหมด ไม่ใช่คนละครึ่ง

    4.ถ้าอยากเอาเข้าธนาคาร โดยผ่อนชำระเหมือนบ้านใหม่ทั่วๆไป ทำได้ไหมครับ และขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้าง
    # ติดต่อธนาคาร โดยตรง แต่ต้องอนุมัติ ภายใน 15 วัน

    5.เงินหลักประกันที่วางให้กับบังคับคดี ถ้าผมประมูลบ้านหลังนั้นไม่ได้ จะคืนให้เมื่อไรครับ
    # หลังจากเสร็จสิ้นการประมูล

    6.ถ้าบ้านหลังนั้นยังมีผู้อาศัยอยู่ ผมต้องทำอย่างไรครับ ยุ่งยากไหมครับ
    # ก็ไปไล่เขาไป ถ้าไม่ไปก็ยุ่งยาก

    7.ผมดูในรายละเอียด โจทก์คือ ธ.ออมสิน ทำไม ธ.ออมสิน จึงไม่เอาไปขายทอดตลาดโดยเป็นทรัพย์พร้อมขายของธนาคารล่ะครับ (เห็นว่าในเวบของ ธ.ออมสินก็ขายบ้านที่ยึดมาเยอะเหมือนกัน)
    # ธ.ออมสิน ไปยึดมาไม่ได้ ต้องผ่านกรมบังคับคดี บางที่ทรัพย์นั้นไม่ได้ติดธนาคารก็มี ก็คือ ธนาคารไม่ใช่เจ้าของ ส่วนที่พร้อมขาย นั้นเป็นของธนาคารแล้ว

    By: อิทธิพงษ์
    Since: 26 เม.ย. 55 02:06:29

  4. admin Post author

    ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ
    ถ้ายังมีคนอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น
    เลิกสนใจไปได้เลยครับ
    เพราะถ้าคุณไม่แจ๋วพอ
    ปัญหาคาราคาซังอีกนาน
    ต่อให้มีกฎหมายบังคับก็เหอะ
    บ้านนี้ เมืองนี้
    หลายกรณี ยังบังคับใช้ไม่ได้

    By: เฮฮา
    Since: 26 เม.ย. 55 09:16:02

  5. admin Post author

    ขอบคุณ คุณ ป และ คุณ อิทธิพงษ์ มากๆเลยครับ

    ข้อมูลละเอียดดีมากเลยครับ เข้าใจได้เลยว่าจริงๆแล้ว ยุ่งยากพอสมควรเพราะมีกฎอะไรต่างๆอีกมากมายที่เราไม่รู้

    ถ้าเข้าไปแบบไม่รู้อะไรเลยนี่ลำบากแน่ๆ เผลอๆอาจมีหนี้โดยไม่รู้ตัว..555++

    เท่าที่ได้อ่านดู ผมว่าผมคงต้องคิดดูก่อนแล้วล่ะ ได้อ่าน ข้อ7. แล้วผมคิดว่ารอให้ธนาคารที่เป็นโจทก์ไปประมูลมาก่อน แล้วให้เค้ามาประกาศขายน่าจะสะดวกกว่า ราคาอาจแพงขึ้น แต่ไม่มากเรื่องไม่วุ่นวาย

    ขอบคุณครับ

    By: จขกท.
    Since: 26 เม.ย. 55 09:34:49

  6. admin Post author

    เพิ่มเติมครับ ต่อจากคุณอิทธิพงษ์

    ข้อ 3 มีค่าจดจำนองอีก(เงินที่กู้ธนาคาร)ถ้าจำไม่ผิด จะ 1%

    ข้อ 4 ถ้าเราประมูลได้เขาจะให้เราทำเรื่องซื้อขายให้จบภายใน 15 วัน แต่เราสามารถไปทำเรื่องขอยืดระยะเวลาชำระทั้งหมดไปอีก 3 เดือน จากนั้นเราก็ไปติดต่อธนาคารที่เราจะกู้ ไปยื่นกู้เอาหลักฐานที่เราประมูลได้ไปด้วย

    By: คอฟฟี่หมาบ้า
    Since: 26 เม.ย. 55 10:08:35

  7. admin Post author

    ไม่ยุ่งยากขนาดนั้นหรอกค่า  แต่ต้องศึกษาให้ดี
    ดิฉันซื้อจากกรมเหมือนกัน  ประหยัดกว่าตั้งเยอะ

    อ้อ เดียวนี้เงินมัดจำไม่ได้ fix ที่ 50,000 แล้วนะคะ
    อาจน้อยหรือมากกว่า เข้าใจว่าขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์

    นอกนั้นก็ตาม คห ข้างบนค่ะ

    By: ถังทอง
    Since: 26 เม.ย. 55 10:34:58

  8. admin Post author

    ขออนุญาต แสดงความเห็นเพิ่มเติม สำหรับ ข้อ 7

    ที่ว่า ธนาคารประมูลมาหรือซื้อมาแล้ว เราเข้าใจว่า ที่ธนาคารประกาศขายในเว็บ มันมีอีกจำพวกนึง นอกเหนือจากในคำตอบของคุณ ป ค่ะ คือลูกค้าหรือลูกหนี้ของธนาคาร แสดงสัญญาณให้เห็นแล้วว่า ชำระหนี้ต่อไปไม่ไหว (ยังติดจำนองอยู่กับธนาคาร) จึงมีการพูดคุยกัน และสุดท้ายอนุญาตให้มีการประกาศขายในเว็บของธนาคารได้ โดยคดีอาจจะยังไปไม่ถึงกรมบังคับคดี

    ผิดถูกไม่รู้นะคะ ไม่ใช่คนในวงการ แค่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว

    By: ม่วยถ่าว
    Since: 26 เม.ย. 55 10:37:35

  9. admin Post author

    ถ้าบ้านมีคนอยู่แล้วไม่ยอมออกง่ายๆ นั่นแหละครับปัญหาใหญ่อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าอยู่ได้ อาจจะถึงกับต้องบังคับคดีจับผู้ที่อยู่ในบ้านแล้วขนย้ายข้าวของให้เขาด้วย

    By: ไม่ได้โม้
    Since: 26 เม.ย. 55 20:26:08

  10. admin Post author

    เพิ่มเติมอีกนิดครับว่า เดี๋ยวนี้การประมูลที่กรมบังคับคดีไม่หมูเหมือนก่อนแล้วครับ เพราะมีการเปลี่ยนกฎใหม่อยู่ข้อนึงเรื่องเกี่ยวกับการตั้งราคาเริ่มต้นประมูล กล่าวคือ เมื่อก่อนจะให้เจ้าพนักงานเป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์เอง แล้วมากำหนดราคาเริ่มประมูลครั้งแรกที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมิน หากไม่มีใครสู้ราคา ครั้งที่สองจะเริ่มต้นที่ 50 เปอร์เซ็นต์

    แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว กล่าวคือ ราคาประเมิน จะถูกกำหนดจากหลายหน่วยงานครับ ไม่ว่า จะเป็นราคาจดจำนองของทรัพย์นั้น ราคาจากกรมธนารักษ์ ราคาจากเจ้าพนักงาน ราคาจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ราคาจากผู้เชี่ยวชาญการประเมิน เป็นต้น กล่าวคือมาจากหลายหน่วยงาน แล้วให้ยึดเอาราคาตัวที่สูงที่สุดมาตั้งเป็นราคาเปิดประมูลโดยไม่มีการกำหนดแบบเก่าที่กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์อีก กล่าวคือ เริ่มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินตัวที่สูงที่สุดเลยครับ และหากไม่มีผู้เสนอราคา ก็ยังไม่ยอมลดราคาอีกนะครับ ยังยืนยันจะขายราคานั้นต่อไปอีกครับในครั้งต่อไป

    เพราะฉะนั้น หากคุณเข้าไปดูการประมูลช่วงนี้ ไม่ต้องตกใจเลยครับว่า ทรัพย์นั้นขายไม่ออกเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ครับ เพราะราคาส่วนใหญ่จะสูงกว่าราคาในท้องตลาดเสียอีก ที่ถูก ๆ ก็จะสูสีกับราคาตลาดครับ ส่วนอันไหนหลงมาแบบถูกจริง ๆ ก็จะถูกแย่งกันอย่างกับเสือแย่งเนื้อเลยครับ

    ทรัพย์ที่ขายออกตอนนี้ขายออกไปได้เพียงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เองครับจากทรัพย์ทั้งหมดที่เข้าประมูล ซึ่งเมื่อก่อนทรัพย์ขายออกเฉลี่ยถึง 37 เปอร์เซ็นต์ครับ คุณก็ลองคิดดูละกันครับว่า สาเหตุเกิดจากการตั้งราคาเริ่มประมูลที่สูงเกินไปใช่หรือไม่ครับ

    ส่วนการวางเงินประกันซองตามข้อ 2. นั้น ตอนนี้ไม่ใช่ที่ 50000 แล้วนะครับ อาจจะน้อยกว่านั้น หรือ มากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับราคาประเมินครับ รู้สึกจะคิด 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินนะครับ ถ้าราคาประเมิน 5 ล้านบาท คุณต้องวางเงิน 2.5 แสนบาทครับ ไม่ใช่ 50000 อีกต่อไปครับ

    By:
    Since: 26 เม.ย. 55 23:38:25

  11. admin Post author

    ยืนยันตาม 10     ตอนนี้ผู้ที่ครอบครองสิ่งปลูกสร้างที่ถูกยึดอยู่ฉลองกันไปหลายรอบแล้วครับ

                  ราคามันแพงจริงๆจนไม่มีใครซื้อแล้วครับ

    By: ศรีวรลักษณ์
    Since: 27 เม.ย. 55 02:22:27

  12. admin Post author

    เราเองก็เพิ่งประมูลบ้านมาจากกรมบังคับคดี ราคาบ้านที่ขายแถวๆบ้านใกล้กันประมาณ 7-8 แสนบาท แต่ที่กรมขายทอดตลาด 5แสนกว่านะคะ แต่เวลาเข้าแบงค์เราเข้าได้เต็มนะคะแต่ถ้าเราไปซื้อกับเพื่อนบ้านที่บอกขายราคาประเมิณของธนาคารก็ประมาณ 4 แสนกว่าๆเองค่ะ เราต้องหาเงินมาเพิ่มให้ ซึ่งก็มากอยู่เหมือนกัน เราเองรอบ้านหลังนี้มาเกือบ 2 ปีกว่าๆจะฟ้อง+ยึดและขายทอดตลาดที่เราอยากได้เพราะมันอยู่ติดกับบ้านเราเลย ตั้งใจซื้อให้แม่อยู่กับน้องชายนะคะ เราว่าถ้าคุณคิดจะซื้อมันอยู่ที่ความสะดวกของเรา+กับความพอใจนะคะ บางครั้งขายแพงก็จริงแต่ถ้าบ้านเดิมเราอยู่ใกล้ๆที่แถวนั้นถ้าพอรับราคาได้ก็ซื้อไว้เถอะค่ะ อย่างเราบ้านตรงนี้แม้จะเล็ก+แพง(ผู้จัดการธนาคารพูดกับเราเลยค่ะว่า ประมูลมาได้ยังไง แพง+บ้านหลายสิปปีแล้ว ) เรายังงงอยู่เลยว่าถ้าเค้ขายเราไม่ได้เปิดประมูลที่เหลือ ไม่มีใครมาสู้ราคาธนาคารเอามาขายเองราคาก็ไม่หนีกันใครจะมาซื้อหว่า  แต่บ้านหลังนี้มีเพื่อนบ้านที่ดี และละแวกนี้เป็นบ้านที่ปล่อยให้ทาง
    บริบัทมินีแบมาเช่าให้พนักงานระดับสูงอยู่  มีพี่ยามหลายคนทั้งกลางวัน+กลางคืน

    By: akeann
    Since: 27 เม.ย. 55 09:09:20

Leave a Reply