คุณแม่ซื้อคอนโดทิ้งไว้สิบกว่าปีแล้วค่ะ ไม่เคยไปดูแล หรือจ่ายค่าส่วนกลางเลยค่ะ เผอิญคุณแม่เจออายัติไว้ และเมื่อปีที่แล้วมีหนังสือจากธนาคารส่งมาที่บ้าน ว่ายกเลิกอายัติแล้ว
เผอิญเพิ่งกลับจากต่างประเทศ และเพิ่งทราบเรื่อง อยากทราบว่า ผลตอนนี้จะเป็นอย่างไรบ้างค่ะ เรายังเป็นเจ้าของอยู่หรือเปล่า เพราะใบโฉนด(ไม่แน่ใจว่าเรียกแบบนี้หรือเปล่า)ก็ยังอยู่ค่ะ
By: loVeLyAnGel
Since: 5 มิ.ย. 55 02:25:38
ต้องไปสอบถามทางธนาคารดูน่ะครับ
เกี่ยวกับโฉนด ที่อยู่ธนาคาร หรือว่าซื้อหมดมีโฉนดจริงแล้ว
ก็ต้องไปถามส่วนกลางทางคอนโดน่ะครับ ว่าต้องจ่ายย้อนหลังอะไรยังไงบ้าง
แต่ทางคอนโดไม่สามารถจะยึดหรือขายต่อได้เพราะโฉนดอยู่ที่เรา กับที่กรมที่ดิน
By: แวะมาเฉยๆ
Since: 5 มิ.ย. 55 03:51:15
อาจจะจ่ายค่าส่วนกลางย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยราคาพอๆๆหรือมากกว่าราคาห้องก็ได้ลองติดต่อส่วนกลางดู
By: korpphaibun
Since: 5 มิ.ย. 55 05:41:08
คอนโดค่าส่วนกลางสูงมากกก
By: ป้าแมงฯ
Since: 5 มิ.ย. 55 08:14:51
มันเกี่ยวอะไรกับธนาคารด้วยเนี่ย
ถ้าโอนมาแล้ว มีโฉนดอยู่ในมือ ธนาคารก็ไม่เกี่ยวแล้ว
คอนโด เป็นของคุณแม่แน่นอน
แต่ที่แน่ๆ คือ ค่าส่วนกลางที่ค้างจ่าย บานฉ่ำ เลยครับ
สมมติเดือนละ 2,000
ปีนึงก็ 24,000
สิบปี ก็ 240,000
แล้วยังค่าปรับ ดอกเบี้ยปรับ ฯลฯ (ถ้ามี)
กรุณาติดต่อนิติบุคคลอาคารชุด สถานเดียวครับ
ลองเจรจาดู ขอความเมตตา หาเหตุผลไปชี้แจงสวยๆหน่อย
อาจได้ลดหย่อนลงบ้าง
By: เปรมอุรา
Since: 5 มิ.ย. 55 08:39:45
ยืนยันตาม คห.4
ลองเข้าไปต่อรองกับทางนิติดูก่อนครับ จาก 200,000 กว่า ขอต่อเค้าเหลือ 80,000 ดู …. อิอิ เผื่อฟลุ๊ค
By: หนุ่มเมืองเพ็ด
Since: 5 มิ.ย. 55 10:06:07
คุณ หมดสิทธิ์เป็นเจ้าของแล้วครับ
หนูยึดไปแล้ว
By: หนึ่งจุดแดง
Since: 5 มิ.ย. 55 12:06:06
โฉนดก็ยังอยู่ ดังนั้นชื่อเจ้าของก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปได้
แต่สงสัยที่ว่า "ธนาคารอายัด"
อายัดอะไร ห้ามโอนขาย หรือห้ามอยู่อาศัย หรือห้ามอะไร
ธนาคารมีสิทธิอายัดตามสัญญา หรือตามกม.อะไร หรือตามคดีความฯ
ซึ่งถ้าการอายัดนั้นทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ได้
เราก็อาจใช้เหตุผลนี้ในการเจรจาขออลุ้มอล่วยเรื่องค่าส่วนกลาง
By: tveeroj
Since: 5 มิ.ย. 55 15:05:42
เคยมีลูกค้าผมคนนึงเคสนี้เลย คอนโด..นาซิตี้ ย่านบางนา เกษียณอายุแล้วอยากจะ Renovate ทำ BOQ ให้เรียบร้อยพร้อมเข้าทำงาน เจอฝ่ายอาคารคอนโดเรียกพบเจ้าของ ให้จ่ายค่าส่วนกลางปีละ สองหมื่นบาทกว่าบาท x 10 ปี ยิ่งกว่านั้นสภาพห้องดูไม่ได้เลย ปาเก้หลุดร่อน กระจกมีแต่ขี้นก เชิงชาย ระแนงระเบียง ขี้นกทั้งนั้น ขี้ค้างคาว
สรุปเจรจากันไปมาก็จ่ายครึ่งนึง
By: คนข้างใจ
Since: 5 มิ.ย. 55 19:06:50
ถ้ามีคนเข้าไปอาศัยอย่างเปิดเผยเป็นเวลาสิบปี คอนโดคุณก็เป็นของคนๆ นั้นเรียบร้อยแล้วครับ
By: manic คุง
Since: 5 มิ.ย. 55 20:29:51
คคห 9 ลองอ่านเรื่องนี้นะคะ
การครอบครองปรปักษ์ทรัพย์ของผู้อื่น
โดย มติชน วัน อังคาร ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 02:03 น.
โดย กระบี่ข้างศาล
ทุกวันนี้ได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย เพราะคนไร้จริยธรรมมากขึ้น ทำผิดศีลธรรม ตามโลกาภิวัตน์ที่ไม่ดีของอนารยประเทศ ปัญหาเรื่องที่ดินของมูลนิธิพระพยอม วัดสวนแก้ว ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นั้น ทุกอย่างเกิดแต่เหตุทั้งนั้น
การครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้กฎหมายจะมิได้บัญญัติว่าต้องมีความสุจริตก็ตาม แต่รูปการ พฤติการณ์ การกระทำ ประกอบแล้วผู้กระทำต้องสุจริตด้วย เพราะถ้าแย่งเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินของผู้อื่น ย่อมผิดศีลธรรม จริยธรรม
ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ก็อาจจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก หรือฉ้อโกง
ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็อาจมีความผิดฐานบุกรุก ฉ้อโกง ฯลฯ ได้เช่นกัน จึงต้องปรับด้วยเรื่องทรัพย์สินอันได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา 1388 มิใช่มาตรา 1382 แต่เพียงอย่างเดียวหรือถ้าเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือให้ โดยผู้รับโอนรู้ว่าผู้โอนไม่มีอำนาจโอนให้ตน จะอ้างว่าตนครอบครองปรปักษ์ เพื่อใช้ยันเจ้าของผู้มิได้รู้เห็นมิได้ (ผู้เขียนขออ้างคำสอนของศาสตราจารย์บัญญัติ สุชีวะ ปรมาจารย์ทางกฎหมายซึ่งได้บรรยายในคำสอนวิชาทรัพย์ด้วย)
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
จะเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีคำว่าการครอบครองต้องครอบครองโดยสุจริต
แต่ถ้าตีความกฎหมายให้มีความเป็นธรรมโดยใช้หลักธรรมเป็นที่ตั้งแล้วนั้น ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์จากการครอบครองต้องมีความสุจริตเป็นที่ตั้ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต
ผู้ที่จะมาใช้สิทธิในทางศาลต้องมาด้วยมือสะอาดนั้นก็หมายความว่า กรรมสิทธิ์ที่ได้มานั้นจะต้องได้มาจากความสุจริต มิใช่ได้มาโดยไม่ชอบ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่า กฎหมายสนับสนุนให้บุคคลทำผิดศีลธรรม ผิดจริยธรรม เที่ยวไปบุกรุก ฉ้อโกง ฯลฯ ผู้อื่น
ตัวอย่างเช่นนายแดง เห็นว่าที่ดินมีโฉนดของนายดำอยู่ใกล้บ้านของตน และนายดำไม่ได้มาดูแลระวังที่ดิน นายแดงจึงเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของนายดำ โดยการปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัย ทำสวนผลไม้ และกระทำโดยเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของโดย นายดำไม่รู้หรือขัดขวางดังกล่าวจะถือว่านายแดงครอบครองที่ดินโดยสงบ
จนกระทั่งเวลาได้ล่วงเลยไป 10 กว่าปี นายแดงได้มายื่นคำร้องต่อศาลว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ดังนี้จะเห็นว่าการยื่นคำร้องต่อศาลของนายแดงดังกล่าวนั้นขาดเจตนาสุจริต เพราะการครอบครองที่ดินนั้น นายแดงได้เจตนาบุกรุกที่ดินของนายดำซึ่งเป็นความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อนายแดงบุกรุกที่ดินของนายดำอันเป็นความผิดอาญา จึงต้องปรับเข้ากับเรื่องทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1383 ซึ่งบัญญัติว่า ทรัพย์สินอันได้มาโดยการกระทำความผิดนั้น ท่านว่าผู้กระทำผิด หรือผู้รับโอนไม่สุจริตจะได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความก็ต่อเมื่อพ้นกำหนดอายุความอาญา หรือพ้นเวลาที่กำหนดไว้ในมาตราก่อน ถ้ากำหนดไหนยาวกว่าท่านให้ใช้กำหนดนั้น
อย่างไรก็ตาม ความผิดอาญาฐานบุกรุกนั้นความผิดยังคงดำเนินอยู่ตลอด ยังถือว่าตราบใดที่นายแดงยังครอบครองที่ดินของนายดำโดยไม่สุจริตอยู่จึงยังถือว่านายแดงบุกรุกอยู่ตลอดเวลา อายุความยังไม่เริ่มนับเพราะถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดจนกว่านายแดงจะหยุดบุกรุกที่ดินของนายดำ คือออกจากที่ดินของนายดำไป
การที่นายแดงครอบครองที่ดินของนายดำอยู่จนถึงวันที่มายื่นคำร้องแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตามนายแดงยังบุกรุกอยู่จนวันยื่นคำร้อง
เมื่อมายื่นคำร้องในขณะที่ตนไม่สุจริตเพราะการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 โดยตลอดมา นายแดงย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ตนครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382
เรื่องนี้เปรียบเทียบได้กับความผิดฐานละเมิดในทางแพ่ง ซึ่งตราบใดที่ผู้กระทำความผิดฐานละเมิดยังคงกระทำความผิดต่อเนื่องไม่หยุด
จะเห็นว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้สุจริต ไม่มีทางที่กฎหมายจะสอนให้คนผิดศีลธรรม ไม่มีจริยธรรม แต่กลับสอนให้เป็นโจร ฯลฯ
ในทางกลับกัน ถ้านายดำได้บอกยกที่ดินให้กับนายแดงด้วยวาจาเท่านั้นโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าพนักงาน เมื่อนายแดงเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ และปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินดังกล่าว โดยสงบเปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี เป็นการกระทำโดยสุจริตนายแดงมายื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ต่อศาล นายแดงย่อมได้กรรมสิทธิ์เพราะนายแดงครอบครองทรัพย์โดยสุจริต
ซึ่งตรงกับคำพิพากษาฎีกาที่ 2251/2538 ที่ว่า แม้การที่บิดาโจทก์ยกที่พิพาทให้โจทก์ โดยมิได้จดทะเบียนการให้ตามกฎหมายทำให้เป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทมานับตั้งแต่บิดาโจทก์ยกที่พิพาทให้โดยความสงบและเปิดเผยตัว ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ซึ่งเป็นการวินิจฉัยสอดคล้องกับหลักศีลธรรมแล้ว
ปัจจุบันที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีเจ้าของและมีราคาแพง ไม่เหมือนกับเมื่อ 50-100 ปีก่อน ซึ่งสมัยก่อนนั้นที่ดินรกร้างว่างเปล่ามีมากมายที่ไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ กฎหมายจึงให้สิทธิผู้ที่ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวมาฟรีๆ แต่ปัจจุบันนี้แตกต่างกับสมัยก่อนมากเพราะกว่าคนคนหนึ่งจะซื้อที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนนั้น ต้องใช้เงินมากมาย จึงไม่ควรให้บุคคลที่ไม่สุจริตและฉวยโอกาสในขณะที่เจ้าของเผอเรอกับทรัพย์ของตนเองแล้ว เข้าครอบครองบุกรุก อ้างครอบครองปรปักษ์เพื่อต้องการทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ถือเป็นการแย่งการครอบครองที่มีเจตนาไม่สุจริต มีพฤติกรรมที่ไม่มีจริยธรรม ผิดศีลธรรม จึงไม่ควรที่จะได้กรรมสิทธิ์ คนไทยเป็นผู้มีจริยธรรมจึงไม่ควรสนับสนุนบุคคลที่ไม่สุจริตมีพฤติกรรมผิดศีลธรรม
ดังเหตุผลที่กล่าวข้างต้นประกอบทั้งผู้ที่นำคดีไปสู่ศาลต้องมือสะอาด ซึ่งตามบัญญัติกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 เป็นบททั่วไป บัญญัติให้ผู้ที่มาศาลจึงต้องมือสะอาด (คือมีการทำการฟ้องหรือร้อง ที่มีมูลฐานมาจากการกระทำที่สุจริต)
ดังนั้น เกี่ยวกับเรื่องผู้ที่จะอ้างขอกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินผู้อื่นต่อศาล ต้องเป็นผู้ที่กระทำโดยสุจริตเท่านั้น ไม่ใช่การอ้างแย่งการครอบครองที่มีเจตนาไม่สุจริต เช่นบุกรุกฉ้อโกง ฯลฯ เป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผิดศีลธรรม (นั้นคือมีมูลคดีจากความไม่สุจริต) ย่อมไม่ควรที่จะได้กรรมสิทธิ์
ฉะนั้นผู้อ้างว่าครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่นต้องมาศาลด้วยมือสะอาดจึงจะได้ ถ้าผู้อ้างที่ร้องขอต่อศาลขาดความสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ศาลควรยกคำร้องหรือไม่รับรองสิทธิให้แก่ผู้ที่มาศาลด้วยมือไม่สะอาดนั้น
สำหรับในกรณีที่ศาลรับคำร้องแล้ว การส่งหมายสำเนาคำร้องให้เจ้าของหรือทายาทต้องให้ได้รับจริงๆ ไม่ควรประกาศหนังสือพิมพ์เด็ดขาด กับควรไต่สวนอย่างรอบคอบให้สิ้นสงสัยว่าที่ดินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ได้กระทำผิดจริยธรรมศีลธรรมมา ศาลต้องไปเดินเผชิญสืบที่ดินให้แน่ชัดว่ามีการกระทำประโยชน์ครอบครองจริงหรือไม่
บางรายขอมามากแต่เมื่อเผชิญสืบแล้ว เห็นได้ว่าควรได้ที่ดินเล็กน้อยเท่านั้นก็มี เพราะศาลต้องมีจิตวิญญาณที่ไม่สนับสนุนผู้กระทำผิดศีลธรรม ผิดจริยธรรม อันจะเป็นการชี้ทางสว่างเพื่อนำพาให้สังคมไทยเป็นสุข มีแต่สุจริตชน
ดังปัญหาการซื้อที่ดินของมูลนิธิวัดสวนแก้วที่เกิดขึ้นย่อมเป็นตัวอย่างแก่สังคมไทย พึงระมัดระวังในผลการกระทำของทุกๆ ฝ่าย สังคมไทยต้องพึ่งธรรมะเป็นใหญ่
By: not defendant
Since: 6 มิ.ย. 55 13:12:19