นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังรัฐบาลให้ชะลอการประกาศบังคับใช้ราคาประเมินที่ดินบัญชีรอบใหม่ ปี 2555-2558 ออกไปอีก 6 เดือน เนื่องจากมีบางจังหวัดประสบปัญหา
น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ล่าสุดจะมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาถึงแนวทางปฏิบัติต่อไป ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กรมจะประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
"ผลประเมินหลังชะลอการประกาศใช้ไป 6 เดือน พบว่าในพื้นที่น้ำท่วมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นผิดปกติ การซื้อขายไม่ได้ชะงัก ราคาก็มีเพิ่มขึ้นด้วยบางพื้นที่ อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลมีการประกาศสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมชัดเจน และเชื่อว่า
ทุกอย่างน่าจะกลับมาสู่สภาพปกติ"
นายนริศกล่าวต่อว่า สำหรับราคาประเมินใหม่ที่จะประกาศนั้น ยังเป็นข้อมูลเดิมที่กรมได้รวบรวมไว้ก่อนหน้านี้ โดยภาพรวมทั่วประเทศ ราคาที่ดินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.34% แยกเป็นที่ดินต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21.40% ประกอบด้วยภาคกลาง เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.90% ภาคเหนือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14.84% ภาคตะวันออก เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 26.04% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25.50% ภาคใต้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32.25% และภาคตะวันตก เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.55% ส่วนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17.13%
โดยบริเวณที่มีราคาประเมินที่ดินสูงสุดของประเทศ ในพื้นที่กรุงเทพฯยังคงเป็นถนนสีลม ตั้งแต่แยกศาลาแดงไปถึงแยกนราธิวาสราชนครินทร์ 850,000 บาทต่อตารางวา รองลงมาเป็นถนนราชดำริ จากแยกราชประสงค์ไปถึงคลองแสนแสบ และที่ถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ และที่ถนนเพลินจิตตลอดสาย 800,000 บาท/ตารางวา
แม้บริเวณดังกล่าวจะมีราคาสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ แต่กลับพบว่าราคาประเมินที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดอยู่ที่เขตวัฒนา คลองเตย พระโขนง และบางนา ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 39.20% เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส รองลงมาเป็นเขตบางกอกน้อย บางพลัด ตลิ่งชัน และทวีวัฒนา เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 33.06% และบางขุนเทียน จอมทอง บางบอน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 29%
ส่วนพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ได้แก่เขตจตุจักร เพิ่มขึ้น 0.6% ลาดพร้าว 0.7% และประเวศ 1.5% เนื่องจากที่ผ่านมา กรมได้มีการปรับราคาประเมินไปแล้วในระหว่างรอบบัญชีที่ผ่านมา และปัจจุบันราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดอยู่แล้ว
สำหรับส่วนภูมิภาคมีพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินที่ดินเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ที่น่าสนใจคือจังหวัดนราธิวาส เพิ่มขึ้นถึง 141.09% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ค่อนข้างดี ยางพารามีราคาสูง ส่งผลให้มีกำลังซื้อ ประกอบกับที่ผ่านมา ราคาประเมินที่ดินไม่มีการเปลี่ยนแปลงมา 2 รอบบัญชี รองลงมาคือจังหวัดบุรีรัมย์ เพิ่มขึ้น 81.27% และตราด เพิ่มขึ้น 74.42%
โดยราคาที่ดินสูงสุดอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่ที่ 400,000 บาทต่อตารางวา ส่วนราคาต่ำสุด อยู่ที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และอำเภอดอยหล่อ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ 10 บาทต่อตารางวา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่มีทางเข้าออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับราคาประเมินที่ดินจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วม 20 จังหวัด โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 11.98% ได้แก่จังหวัดสุโขทัย เพิ่มขึ้น 18.72% พิจิตร เพิ่มขึ้น 12.01% พิษณุโลก เพิ่มขึ้น 11.43% นครสวรรค์ เพิ่มขึ้น 3.48% อุทัยธานี เพิ่มขึ้น 5.39% ชัยนาท เพิ่มขึ้น 6.95% สิงห์บุรี เพิ่มขึ้น 2.19% อ่างทอง เพิ่มขึ้น 24.05% พระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้น 10.6% ปทุมธานี เพิ่มขึ้น 5.09% ลพบุรี เพิ่มขึ้น 2.22% สระบุรี เพิ่มขึ้น 2.63% นครนายก เพิ่มขึ้น 8.24% ปราจีนบุรี เพิ่มขึ้น 15.14% ฉะเชิงเทรา เพิ่มขึ้น 1.73% สุพรรณบุรี เพิ่มขึ้น 8.38% นครปฐม เพิ่มขึ้น 9.54% กำแพงเพชร เพิ่มขึ้น 41.38% ตาก เพิ่มขึ้น 22.97% และนนทบุรี เพิ่มขึ้น 27.18%
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1338866737&grpid=00&catid=07&subcatid=0700
By: ViViCo1
Since: 7 มิ.ย. 55 14:00:07
บ้านยังไม่ได้โอนด้วย แบบนี้ตอนโอนต้องจ่ายค่าโอนมากขึ้นสินะ
By: GeneralAK
Since: 7 มิ.ย. 55 14:24:42
^
ถ้าโอนก่อน1ก.ค.55 ราคาเดิมค่ะ รีบโอนก่อนก็ดีนะคะ
แต่..แลกกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ยินดีค่ะ
By: aoy1
Since: 7 มิ.ย. 55 15:23:32