เจดีย์ บุญเขตอันเยี่ยม (ตอน: แนวคิดการออกแบบพระเจดีย์)

บทความโดย : น้อมเศียรเกล้า

พระเจดีย์ เป็นสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญสูงสุดกว่าสถาปัตยกรรมอื่นในพระพุทธศาสนา พระเจดีย์ในยุคดั้งเดิมแรกเริ่มประดิษฐานอยู่ในประเทศอินเดีย โดยมีการพัฒนารูปแบบมาจากสถูปซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อบรรจุอัฐธาตุของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยสถูปจะทำเป็นรูปเนินดินและบรรจุอัฐิไว้ภายใน

จุดประสงค์ของการสร้างพระเจดีย์เริ่มแรกสุดมีความมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่สักการะบูชา ซึ่งเรียกว่า ”ธาตุเจดีย์” และต่อมาได้มีการสร้างพระเจดีย์โดยมีวัตถุประสงค์ในการอุทิศและน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยเรียกพระเจดีย์นี้ว่า ”อุทเทสิกเจดีย์” [พิบูลย์, 2549]

***Worship at a Stupa.India,Bharhut,early 2d centuryB.C.E Stone.ภาพแกะสลักบนศิลาสมัยจักรวรรดิศุงคะ (หลังการล่มสลายราชวงศ์เมาริยะของพระเจ้าอโศก)ทั้งสองภาพเป็นภาพการแสดงความเคารพต่อพระเจดีย์ทำโดยการเดินรอบพระเจดีย์ และนำมือทั้งสองสัมผัสที่ฐานพระเจดีย์

By: น้อมเศียรเกล้า
Since: 14 มิ.ย. 55 11:34:46

10 thoughts on “เจดีย์ บุญเขตอันเยี่ยม (ตอน: แนวคิดการออกแบบพระเจดีย์)

  1. admin Post author

    ถึงแม้สถาปัตยกรรมของพระเจดีย์จะแตกต่างกันไปในแต่ละดินแดนที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปถึงแต่พระเจดีย์ทุกองค์ล้วนถูกออกแบบขึ้นให้มีรูปลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่นคง ความแข็งแรง ความสูงศักดิ์และ ความสง่างาม [Paranavitana,1946]

    ***ภาพพระเจดีย์ในรูปแบบต่างๆ***

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:36:28

  2. admin Post author

    พระเจดีย์สมัยแรกสุดที่อินเดีย เชื่อว่ามีลักษณะเป็นเนินดินและก่ออิฐเตี้ย ๆ เป็นรูปวงกลมอยู่บนเนินดินนั้น [Longhurst,1987] นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏสัญลักษณ์เกี่ยวกับคนหรือรูปสัตว์ใดๆ [Banerjee,2001]

    ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบ เป็นเจดีย์ที่มีฐานรองรับองค์เจดีย์ มีลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์แห่งปรัชญาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่นมีฉัตรปักอยู่เหนือองค์เจดีย์ ตลอดจนการเพิ่มความสูง เพิ่มขนาดขององค์เจดีย์ และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ [Ranaweera,2004]

    มหาเจดีย์ Sanchi (สาญจิ) ประเทศอินเดีย ที่ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก เป็นเจดีย์ศิลปะ Mauryan (เมารยะ) ซึ่งมีลักษณะเรียบง่าย มีรูปทรงโอคว่ำสร้างจากอิฐขนาดใหญ่ที่แข็งแรง เหนือสถูปมีกล่องหินเรียก "หรรมิกา" มีฉัตรซ้อน 3 ชั้น รอบฐานเมีรั้วเรียก "เวทิกา" และมีรั้วรอบสถูปอีกชั้น มีประตูใหญ่ทั้ง 4 ทิศ มีปรากฏหลักฐานอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

    *** มหาเจดีย์สาญจิสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พุทธศตวรรษที่ 3) เป็นสถูปเจดีย์เก่าแก่ที่สุดของโลก ***

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:38:44

  3. admin Post author

    เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปยังดินแดนต่างๆ ดินแดนนั้นก็มีการสร้างพระเจดีย์ โดยมีพระเจดีย์แบบดั้งเดิมของประเทศอินเดีย (ทรงโอคว่ำ)เป็นต้นแบบของพระเจดีย์อื่นๆในเอเซียที่สร้างขึ้นภายหลัง [Snodgrass,1985]

    และกาลต่อมาแต่ละดินแดนจึงได้พัฒนารูปแบบเจดีย์ของตนขึ้นมา เช่น จากบทความวิชาการของ Ranaweera M.P. เรื่อง “Ancient Stupas in Sri Lanka-Largest Brick Structures in the world” กล่าวว่า "พระเจดีย์แรกเริ่มในศรีลังกา มีรูปทรงเดียวกันกับพระเจดีย์ที่อินเดียแต่ต่อมาก็พัฒนาเป็นรูปทรงต่างๆ เช่นมีการเพิ่มยอดแหลมทรงกรวยบนบัลลังก์"

    ***พระเจดีย์แบบอินเดีย***

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:40:56

  4. admin Post author

    ฉัตร (บนภาพหมายเลข7) แต่เดิมมีไว้เพื่อกันฝนสำหรับเจดีย์ที่ขนาดเล็ก แต่เมื่อพระเจดีย์มีขนาดใหญ่ขึ้นฉัตรจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเท่านั้น [Ranaweera,2004]

    ***ภาพยอดเจดีย์แบบต่างๆในอินเดีย***

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:42:03

  5. admin Post author

    ภาพองค์ประกอบหลักของพระเจดีย์ศรีลังกา

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:43:30

  6. admin Post author

    รูปทรงที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากอีกแห่งหนึ่งคือรูปทรงของพระเจดีย์ Thuparama ในศรีลังกา แต่เดิมเชื่อว่าสร้างขึ้นโดยมีโครงสร้างด้านนอก (Vatadage)เป็นทรงกลม และมีเสาหินรองรับหลังคา จึงทำให้พระเจดีย์มีอายุเป็นพันๆปี แต่โครงสร้างปัจจุบันเหลือเพียงพระเจดีย์และเสาหิน

    ***Votadage of Thuparama ภาพจากhttp://upasaka-greg.** ไม่ใช่ลิควิด *****

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:45:08

  7. admin Post author

    ภาพ Thuparama ปี ค.ศ.2010จากhttp://www.zoomsrilanka.com

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:46:00

  8. admin Post author

    ปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบพระเจดีย์นั้น เขื่อว่ามาจากวัฒนธรรมประเพณี ศิลปะและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ดังแนวคิดการออกแบบพระเจดีย์ในประเทศอินเดีย ที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนา

    แนวคิดการออกแบบเจดีย์ในประเทศอินเดียนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง โดยอ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ของ พิบูลย์ ลิ้มพาณิชย์ [พิบูลย์, 2549]

    ๑.แนวคิดการออกแบบเจดีย์ตามหลักพระพุทธศาสนา

    ตามหลักฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ไม่ปรากฏเกี่ยวกับการกำหนดรูปทรงของเจดีย์ หลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกกล่าวเพียงว่า พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ให้สร้างเจดีย์ของ พระองค์ไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่งเพื่อทำการสักการะบูชา หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว ดังนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนเกี่ยวกับรูปทรงของเจดีย์ แต่นักวิชาการเชื่อว่า เจดีย์มีวิวัฒนาการมาจากประเพณีการฝังศพหรือสถานที่ฝังศพ ที่มีลักษณะเป็นเนินดินของพวก อารยันที่แพร่หลายมาตั้งแต่ยุคโบราณของอินเดีย

    ซึ่งในยุคแรกเจดีย์มีลักษณะเป็นรูปครึ่งหนึ่ง ของรูปทรงกลม เรียบง่าย ไม่มีลวดลาย ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนามหายานกำเนิดขึ้นและพัฒนา เต็มรูปแบบในยุค พ.ศ. ๕๐ – ๑๐๐๐ เจดีย์ก็ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบมหายานซึ่งเห็นได้ชัดจากเจดีย์อมราวดีที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ มีภาพแกะสลักพระพุทธรูปยืน มีสัตว์หลายชนิด เช่น สิงห์ ม้า ช้าง เป็นการรวมตัวของสัตว์ในศาสนาพราหมณ์

    เท่ากับเป็นการ ข่มศาสนาพราหมณ์โดยตรง เพราะคติของพระพุทธศาสนามหายานในขณะนั้นต้องแข่งขันกับศาสนาพราหมณ์ ภาพแกะสลักที่เป็นศิลปะแบบมหายานจึงต้องแสดงอานุภาพไม่แพ้เทพเจ้า ของศาสนาพราหมณ์ เจดีย์บางแห่งในอินเดียเมื่อแรกสร้างเป็นศิลปะแบบหินยาน

    แต่ต่อมา ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และตกแต่งให้เป็นศิลปะแบบมหายาน เช่น เจดีย์ธรรมราชิกา ซึ่งแต่เดิมเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะเป็นรูปครึ่งหนึ่งของรูปทรงกลม สร้างขึ้นบนฐานเตี้ยไม่มีการตกแต่งลวดลาย ที่องค์เจดีย์ แต่ได้มีการตกแต่งเจดีย์ขึ้นในภายหลัง

    โดยมีการตกแต่งสายคาดที่เป็นเครื่องประดับบนองค์เจดีย์ ซึ่งพบชิ้นส่วนการตกแต่งนี้จากซากปรักหักพังของเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีการตีความเกี่ยวกับการ สร้างเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ แห่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชว่า เจดีย์ ๘๔,๐๐๐ แห่งเปรียบเหมือนกับ ตัวแทนของบทแต่ละบทหรือแต่ละส่วนของคำสอน เนื่องจากธรรมทั้งปวงต้องประกอบไปด้วย ส่วนต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้นเจดีย์แต่ละแห่งจึงเป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมและตัวพระธรรม ทั้งหมดด้วย

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:47:26

  9. admin Post author

    ๒. แนวคิดการออกแบบเจดีย์ตามหลักศาสนาพราหมณ์

    ศาสนาพราหมณ์เกิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ ๑๔๕๕ – ๙๕๗ ปี ก่อน พุทธศักราช ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาที่สืบสายมาจากศาสนาดั้งเดิมของพวกอารยัน และ เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย เมื่อพวกอารยันได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในอินเดียก็ทำให้ ชาวพื้นเมืองเดิม คือพวกมิลักขะหรือทัสยุ หรือดราวิเดียนนับถือเทพเจ้าและประพฤติปฏิบัติ ตามประเพณีของพราหมณ์ ต่อมาพระพุทธศาสนาได้นำเอาลัทธิประเพณีที่นิยมแพร่หลายของ พราหมณ์มาดัดแปลงแก้ไขไว้เพื่อวัตถุประสงค์ของตน ที่นับว่ามีชื่อมากก็คือ ลัทธิพราหมณ์ เกี่ยวกับการสร้างเจดีย์ ดังนั้นการสร้างเจดีย์ในพระพุทธศาสนาจึงมีศิลปะของพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

    องค์ประกอบหลักของเจดีย์ในอินเดีย ที่มักจะนำมาตีความหาความหมายนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๓ ส่วน คือ

    ๑. องค์เจดีย์ มีลักษณะเป็นรูปครึ่งหนึ่งของรูปทรงกลม เช่น เจดีย์ที่สาญจี มีการตีความว่าองค์เจดีย์เปรียบได้กับไข่แห่งจักรวาล ในคัมภีร์วิษณุปุราณะของพราหมณ์ กล่าวว่าธาตุอันได้แก่อากาศะ เป็นต้น ได้รวมตัวกัน ทำให้ไข่หรืออัณฑะเกิดขึ้นมา ไข่นั้นลอยอยู่เหนือน้ำเหมือนฟองน้ำ และโตขึ้นโดยลำดับจนกลายเป็นฟองมหึมา เป็นที่สถิตอันสูงสุดของพระวิษณุที่อยู่ในรูปของพระพรหม ไข่ฟองนี้เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของประกฤติ หลังจากตกอยู่ใต้อิทธิพลของพระวิษณุ และมีชื่อเรียกว่า หิรณฺยครฺภ พระวิษณุเจ้าโลกซึ่งเดิมทีเดียวไม่ปรากฏรูปร่างก็ได้กลายเป็นผู้ปรากฏรูปร่างสถิตอยู่ในไข่ฟองนั้นแต่อยู่ในสภาวะของพระพรหม มีภูเขาพระสุเมรุทำหน้าที่เป็นรกหุ้มห่อพระพรหมนั้น ภูเขาอื่น ๆ ทำหน้าที่เป็นมดลูก

    มหาสมุทรทั้งหลายทำหน้าที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงทารกภายในครรภ์ บรรดาภูเขาและทวีปต่าง ๆ โลกและดวงดาวทั้งหลาย เทวดามนุษย์และอสูรต่างอยู่ในไข่นั้นทั้งสิ้น๘๘ เจดีย์จึงเปรียบได้กับไข่ที่ลอยอยู่เหนือน้ำเหมือนฟองน้ำ ซึ่ง เจดีย์บางแห่งได้สะท้อนให้เห็นถึงสัญลักษณ์นี้อย่างชัดเจน เช่น ภาพสลักนูนเจดีย์ที่สาญจีเป็นภาพเจดีย์ลอยอยู่บนน้ำ

    ๒. หรรมิกา คือ ส่วนที่อยู่เหนือองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม มีการตีความว่าหรรมิกามีวิวัฒนาการมาจากแท่นบูชาเทพในยุคพระเวท เป็นแท่นบูชาสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีบูชายัญในยุคพระเวท

    พวกอายันในยุคพระเวทได้พัฒนาการบูชาไฟชนิดหนึ่งขึ้น คู่เคียงไปกับศาสนาแห่ง จักรวาลนี้ ศาสนาแห่งจักรวาลของพวกอารยันสมัยพระเวท มีความโน้มเอียงไปในทางลัทธิที่ถือ มนุษย์เป็นเกณฑ์ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าไฟเป็นสื่อกลางระหว่างเทวดากับมนุษย์

    ๓. ฉัตร เป็นจุดยอดสุดของเจดีย์ คือ ส่วนที่อยู่ตรงกลางของหรรมิกา มีลักษณะเป็น แท่งหินหรือด้ามหินรองรับฉัตรหรือร่มที่ซ้อนกันสามชั้น หรือเจดีย์บางแห่งก็มีชั้นเดียว แสดงให้เห็นถึงเจดีย์ในยุคแรกของอินเดีย

    แต่ในสมัยหลังก็มีจำนวนฉัตรที่ซ้อนกันเพิ่มมากขึ้น ในคัมภีร์พระเวท ฉัตรแสดงถึงอำนาจสูงสุดและความมีเกียรติ ด้ามฉัตรหรือด้ามร่มนั้นแสดงถึงอำนาจสูงสุดของ สิ่งก่อสร้างทั้งหมด

    ฉัตรหรือร่มแสดงถึงความมีเกียรติของกษัตริย์ซึ่งเห็นได้จากการสร้าง เจดีย์ที่สาญจีในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำให้พระพุทธศาสนา กลายเป็นศาสนาประจำชาติของอินเดีย ร่มหรือฉัตรของกษัตริย์แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่อง กับเจดีย์ ร่มหรือฉัตรแสดงถึงสัญลักษณ์อำนาจของกษัตริย์ดังที่ปรากฏในภาพแกะสลักเจดีย์ ที่สาญจี[พิบูลย์,2549]

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:48:57

  10. admin Post author

    อ้างอิง

    พิบูลย์ ลิ้มพาณิชย์. (2549). อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อการสร้างเจดีย์ในสมัยสุโขทัย.วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต

    Longhurst, A.H.,The Story of the Stupa,(New Deli : New Printindia (P) Ltd,1997), p.13

    Paranavitana, S, 1946, The Stupa in Ceylon,Memoirs of the Archaeological Survey of Ceylon,Volume V, Colombo Museum, Reprint 1988.

    Snodgrass, A. The Symbolism of the Stupa 1985, Architecture, Time and Eternity, (Satapitaka Series, No. 356–7, two vols) 1988

    Banerjee Radha. Buddhist Art in India. Retrieve Feb 8, 2012. From http://ignca.nic.in/budh0002.htm

    By: น้อมเศียรเกล้า
    Since: 14 มิ.ย. 55 11:50:02

Leave a Reply